ตำนานความเป็นมาของสงกรานต์
สงกรานต์เป็นคำภาษาสันสกฤตหมายถึงการเคลื่อนย้าย เป็นวันที่พระอาทิตย์โครจรย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ตามการคำนวณของผู้รู้ทางโหราศาสตร์ ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 แต่การนับวันทางจันทรคตินี้ เมื่อเทียบกับวันทางสุริยคติ ในแต่ละปีจะไม่ตรงกัน จึงถือ เอาวันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็นวันสงกรานต์ วันสงกรานต์ถือเป็นวันปีใหม่ของไทย วันที่ 14เมษายนถือเป็นผู้สูงอายุ และวันที่ 15 เมษายน จะเป็นวันครอบครัว นอกจากจะเป็นวันปีใหม่ของประเทศไทยแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านในแหลมทอง คือ ลาว กัมพูชา และ พม่า รวมทั้งชนกลุ่มน้อยชาวไต ในเวียดนามและมณฑลยูนานของจีน รวมทั้งประเทศศรีลังกา และทางตะวันออกของประเทศอินเดีย ก็ถือวันสงกรานต์เป็นประเพณีวันปีใหม่ด้วยเช่นกัน ในวันสงกรานต์ มักจะมีขบวนแห่แหนนางสงกรานต์ และพระพุทธรูปสำคัญประจำเมือง เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำ ในกรุงเทพฯ ก็จะมีการแห่พระพุทธสิหิงค์ เรื่องการแห่แหนนางสงกรานต์นี้ มีตำนานมาจากจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามกล่าวว่า
ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีคนหนึ่ง รวยทรัพย์แต่อาภัพบุตร ตั้งบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีจนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์ และพระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานอยู่กว่าสามปี ก็ไร้วี่แววที่จะมีบุตร อยู่มาวันหนึ่งพอถึงช่วงที่ พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ พอถึงก็ได้เอาข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐี จึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานให้เทพบุตรองค์หนึ่งนาม “ธรรมบาล” ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าก็คลอดออกมา เศรษฐีตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า ธรรมบาลกุมาร และได้ปลูกปราสาทไว้ ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัยต่อมาเมื่อธรรมบาลกุมารโตขึ้น ก็ได้เรียนรู้ภาษานกและเรียนไตรเภทจบ
เมื่ออายุได้เจ็ดขวบ เขาได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่ คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมารว่า ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน ทันใดนั้นธรรมบาลกุมารจึงขอผัดผ่อนกับท้าวกบิลพรหมเป็นเวลา 7 วัน ทางธรรมบาลกุมารก็พยายามคิดค้นหาคำตอบ ล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล เขาคิดว่าขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม บังเอิญบนต้นไม้มี นกอินทรี 2 ตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่ นางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารแห่งใด สามีตอบนางนกว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย ด้วยแก้ปัญหาไม่ได้ นางนกจึงถามว่า คำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้า ศรีษะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยง ศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็น ศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน ธรรมบาลกุมารก็ได้ทราบเรื่องที่นกอินทรีคุยกันตลอด จึงจดจำไว้ ครั้นรุ่งขึ้น
ท้าวกบิลพรหมก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ทุกประการ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ดอันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุม พร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดินไฟก็จะไหม้โลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนำพานมารองรับ แล้วก็ตัดเศียรให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โต จากนั้นนางทุงษะก็อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี ณ เขาไกรลาศ
จากนั้นมาทุก ๆ 1 ปี ธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานตามเดิม ในแต่ละปีนางสงกรานต์แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันมาทำ หน้าที่แห่เศียรท้าวกบิลพรหม ตามแต่ว่าวันมหาสงกรานต์จะตรงกับวันใด วันอาทิตย์
ทุงษะเทวี, วันจันทร์ โคราคะเทวี, วันอังคาร รากษสเทวี, วันพุธ มณฑาเทวี, วันพฤหัสบดี กิริณีเทวี, วันศุกร์ กิมิทาเทวี
วันเสาร์ มโหธรเทวี
credit : www.d-magazine.de