ดีทั้งนั้น
สามีภรรยาคู่หนึ่งอยู่กินด้วยกันมานาน สามีเป็นคนใจเย็น ส่วนภรรยาเป็นคนเจ้าอารมณ์และแสนงอน แต่ก็ทำหน้าที่แม่บ้านไม่ขาดตกบกพร่อง วันหนึ่งภรรยาไปธุระกลับบ้านเย็นไปหน่อยเลยรีบหุงข้าวทำกับข้าวไว้รอท่าสามีเหมือนเคย เพราะรีบเร่งหุงจึงได้ข้าวสุกแบบสามกษัตริย์คือ ข้างบนปากหม้อดิบ ตรงกลางแฉะ และที่ก้นหม้อไหม้จะหุงใหม่ก็คงไม่ทัน นางจึงหาหนทางแก้ไขโดยยกสำรับกับข้าวไปที่หน้าบ้านซึ่งอยู่ติดคลองเพื่อให้ได้บรรยากาศ สามีจะได้ไม่ต่อว่าเรื่องข้าว พอถึงเวลาสามีกลับมาก็รีบออกไปรับหน้าแล้วพาไปที่ชานหน้าบ้าน ตักข้าวปากหม้อให้สามีและตัวเองรับประทานกัน พอรับประทานได้สองสามคำ ภรรยาก็พูดขึ้นว่า
“ข้าวปากหม้อแข็งไปหน่อย รีบหุงจึงไม่ค่อยสุก”
สามีตอบเอาใจภรรยาว่า “ดีเหมือนกันข้าวดิบๆสุกๆกินแล้วมันดี”
ภรรยาดีใจที่สามีไม่แสดงอาการไม่พอใจ เมื่อข้าวจานแรกหมดไป รีบตักให้อีก คราวนี้เป็นข้าวแฉะกลางหม้อ ก็พูดกับสามีว่า
“จานนี้คงแฉะหน่อยคงทานได้”
“แฉะซิดี ไม่ต้องเคี้ยวมาก ของชอบอยู่แล้ว” สามีตอบเอาใจเหมือนเดิม
ภรรยาเริ่มหมั่นไส้ พอข้าวจานที่สองหมด จึงถามว่าอิ่มหรือยัง เมื่อสามีตอบว่ายังจึงคดข้าวส่วนก้นหม้อให้ทาน พร้อมทั้งบอกว่า
“นี่ข้าวก้นหม้อ ใช้ไฟแรงไปหน่อยจึงไหม้ไปนิดหนึ่ง”
สามีก็ตอบแบบเดิม “ดีสิ ข้าวไหม้ก็ดีนะ หอมดี นานๆได้กินข้าวหอมที”
ภรรยาหมั่นไส้เต็มแก่ ทนไม่ไหวจึงใช้มือทั้งสองจับจานข้าวแล้วยันโครมไปที่กลางอกสามี สามีซึ่งนั่งหันหลังให้คลองอยู่ไม่ทันระวังจึงหงายหลังตกลงไปในคลอง จมไปพักหนึ่งแล้วโผล่ขึ้นมาพร้อมกับตะโกนว่า
“ดีเหมือนกัน กำลังร้อนอยู่พอดี ได้อาบน้ำค่อยยังชั่วหน่อย”
ได้สดับมาแค่นี้.
เรื่องนี้สื่อความได้ว่า
การพูดจาที่ฟังดูดี
ที่สร้างความสบายใจให้แก่ผู้ฟังด้วยความใจเย็น
มองโลกในแง่ดี ไม่ติดใจถือสาในเรื่องเล็กน้อยนั้น
สามารถจะหยุดสถานการณ์ที่เลวร้ายลงได้
ในการคบหาสมาคมกันฉันเพื่อน
หรืออยู่ด้วยกันแบบสามีภรรยา
จำเป็นต้องอาศัยการพูดจาแบบนี้ทั้งสิ้น
จึงจะคบหาและอยู่ด้วยกันยืด
โดยเฉพาะคู่สามีภรรยา เมื่ออยู่ด้วยกันก็เหมือนลิ้นกับฟัน ย่อมกระทบกระทั่งกันบ้าง ทำสิ่งที่ทำให้ไม่สบายใจแก่กันบ้างเป็นธรรมดา ต้องรักษาภาวะให้ดี คือเมื่อฝ่ายเย็นหรืออ่อนเหมือนลิ้น อีกฝ่ายต้องแข็งเหมือนฟันเพื่อหน้าที่เป็นผู้นำทาง ถ้าอ่อนด้วยกันทั้งคู่ก็เหลว แก้ปัญหาไม่ค่อยได้ หรือแข็งด้วยกันทั้งคู่ก็อยู่ด้วยกันลำบากเพราะต่างไม่ยอมกัน มีแต่จะแตกหักกันไปข้าง
จึงถ้ายอมเสียฝ่ายหนึ่ง ทนได้ก็ทนนิ่งไว้ ไม่ตอบโต้ หรือถ้าจะตอบก็ตอบอย่างมีสติ แบบใจเย็น ใช้คำพูดที่เป็นน้ำ ฟังแล้วสบายใจ ไม่ขัดหู ก็จะดับไฟได้
แต่ถ้าตอบแบบไม่ลดราวาศอก ไม่ยอมกันท่าเดียว ก็เท่ากับเติมเชื้อไฟเข้าไป ก็มีแต่จะลุกลามใหญ่โตสถานเดียว.
credit : http://www.pngoen.com/nitan04.html