ยอดนักด่า
สมัยพุทธกาล พราหมณ์คนหนึ่งชื่ออักโกสกะ ได้ยินข่าวว่าเพื่อนรักซึ่งเป็นพราหมณ์ด้วยกันบวชเป็นพระภิกษุไปแล้ว จึงไม่พอใจพระพุทธเจ้า ที่เทศน์จนเพื่อนพราหมณ์บวช คิดแล้วก็รีบบึ่งไปที่วัดเวฬุวันด้วยความโกรธแค้น พบพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่กุฏิพอดี จึงสวมวิญญาณนักด่าบรรเลงเพลงด่าเป็นชุดเลย ด้วยคำหยาบคายชนิดที่เขียนออกมาเป็นตัวหนังสือก็ยังหยาบอยู่ ด่าอยู่หลายชุดจนกระทั่งเหนื่อย แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงนิ่งเฉยไม่โต้ตอบ ไม่แสดงกิริยายินดียินร้ายอะไร พราหมณ์ก็ยิ่งโกรธหนักขึ้น หายเหนื่อยแล้วก็ด่าอีกชุดแถมท้าย ในที่สุดก็หมดแรงความโกรธก็ค่อยลดดีกรีลง
พระพุทธเจ้าทรงเห็นพราหมณ์หยุดด่าด้วยหมดแรง จึงตรัสถามว่า “ด่าหมดหรือยังท่านพราหมณ์”
“หมดแล้ว” พราหมณ์ตอบแบบหมดสภาพความเป็นยอดนักด่า
“ท่านพราหมณ์ ท่านคงทราบดีและปฏิบัติอยู่ คือญาติพี่น้องหรือมิตรสหายมาเยี่ยมบ้าน ท่านย่อมจัดน้ำจัดท่าบ้าง อาหารบ้าง ผลไม้บ้าง ขนมบ้างออกมาต้อนรับตามธรรมเนียม ขอถามหน่อยเถอะท่านพราหมณ์ เมื่อแขกที่มาเยี่ยมเยียนนั้นไม่รับของต้อนรับเหล่านั้น ของต้อนรับเหล่าน็นจะเป็นของใคร”
“ก็เป็นของข้าพเจ้าเอง” พราหมณ์ตอบ
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า
“ก็เหมือนกันแหละท่านพราหมณ์ ท่านด่าเราผู้ไม่โกรธตอบ ท่านโกรธเราผู้ไม่โกรธตอบ เราไม่ขอรับคำด่าและความโกรธของท่าน ก็กลับไปเป็นของท่านแต่เพียงผู้เดียวนั่นแหละ”
พราหมณ์โดนไม้นี้เข้าถึงกับอึ้งเงียบไม่กล้าด่าอีก
พระพุทธเจ้าจึงเทศน์สั่งสอนพราหมณ์ให้เห็นโทษแห่งความโกรธและการเอาชนะความโกรธให้ได้ พราหมณ์ได้ฟังเทศน์แล้วก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส ขอบวชในพระพุทธศาสนาตามเพื่อนที่บวชปฏิบัติธรรมล่วงหน้าไปแล้ว.
ท่านว่า…
คนโกรธนั้นเป็นคนเลวอยู่แล้ว
แต่ผู้ที่โกรธตอบผู้ที่โกรธแล้วกลับเลวยิ่งกว่า
บุคคลที่ไม่โกรธตอบต่อบุคคลที่โกรธแล้ว
ชื่อว่า ชนะสงครามที่ชนะได้โดยยาก
ผู้ใดรู้ว่าคนอื่นเขาโกรธ
ตัวเองพยายามตั้งสติไม่โกรธตอบ ไม่ด่าตอบ ไม่ทำร้ายตอบ
อดทนอดกลั้น สงบกายสงบวาจาให้ได้
ผู้นั้นชื่อว่า ประพฤติประโยชน์ ทั้งแก่ตนและคนที่โกรธนั้น
เรื่องนี้สื่อความได้ว่า:..
แต่ เมื่อเราทำอย่างนี้ พวกคนพาลมักจะมองเราว่าเราเป็นคนโง่เขลา เป็นคนขี้ขลาด เป็นคนไม่สู้คน ก็ให้เขาว่าไปเถิด เพราะคำของคนพาลนั้นท่านสอนกันมาว่า ไม่ควรให้น้ำหนักถึงกับเก็บมาใส่ใจหรือเก็บมาคิดให้วุ่นวายใจอยู่แล้ว.
Credit : จากหนังสือ กิร ดังได้สดับมา ของ พระธรรมกิตติวงศ์(ทองดี สุรเตโช)